วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Freedom from the Known

. . . คุณจะเฝ้าดูได้ก็ต่อเมื่อจิตเงียบมาก เช่นเดียวกับที่คุณสามารถฟังใครซักคนที่กำลังพูดได้ก็ต่อเมื่อจิตของคุณไม่คุยจ้อหรือพูดกับตัวเองถึงปัญหาและความกังวลของตน และเช่นเดียวกัน คุณเฝ้าดูความกลัวของคุณโดยไม่พยายามแก้ไขมันได้หรือไม่ หรือไม่นำเอาสิ่งที่ตรงข้ามกับมันคือความกล้ามากลบเกลื่อน เฝ้าดูมันจริงๆและไม่พยายามหนีมันไป เมื่อคุณพูดว่า "ผมต้องควบคุมมัน ผมต้องกำจัดมันออกไป ผมต้องเข้าใจมัน" คุณกำลังหลบหลีกไปจากมันเสียแล้ว . . .

บทความตอนหนึ่งจากหนังสือ Freedom of the known อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้ ของกฤษณมูรติ เป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่ง หากต้องศึกษาแนวคิดที่สวนกระแสในมุมมองที่ต่างออกไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งกระแสสังคมที่เรายึดถือปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน

หลังจากที่ได้เรียนวิชานี้ไปในคาบแรก ทำให้นึกถึงอะไรหลายๆอย่าง รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ ที่เคยอ่านเมื่อประมาณสองปีมาแล้ว แนวคิดของผู้เขียนน่าสนใจมาก เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพูดถึงการทำความรู้จักตัวเอง ในความแตกต่างของแต่ละบุคคลที่มีความเป็นปัจเจก ก็ยังมีพื้นฐานความเป็นมนุษย์เหมือนกัน การเข้าใจตัวเราเองอย่างแท้จริง ย่อมทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น จึงขอเริ่มต้นบทความแรกเป็นการแนะนำหนังสือเล่มนี้ และแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง


ในการทำความรู้จักตัวเองและชีวิต ความคิดต่างๆที่เรานึกขึ้นได้ ณ เวลานี้ ส่วนมากก็เป็นผลมาจากเรื่องราวในอดีตที่ทำให้เราตีความหมายไปตามประสบการณ์เฉพาะตัว เราเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้คนเล่ามา เรียนรู้จากการสั่งสอน ถ่ายทอด ไม่มีการเรียนรู้อะไรที่ใหม่จริงๆ เหมือนกับการใช้ชีวิต . . ที่เรามักใช้เวลาปัจจุบันเสียเปล่าไปกับการคิดถึงอดีตและกังวลถึงอนาคต เมื่อเราสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราก็จะใช้ประสบการณ์เดิมที่มีในการพยายามจะอธิบาย เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยเจอมาก่อน เพื่อประเมินค่าหรือวิพากย์วิจารณ์ โดยแทบจะไม่ได้ชื่นชมกับสิ่งๆนั้นในแบบที่มันเป็นจริงๆ เราพยายามแบ่งแยกว่าอะไรดี อะไรเลว อะไรมีค่า อะไรไม่มีค่า อะไรควร ไม่ควร ทุกอย่างถูกแบ่งอย่างแปลกแยก ความคิดของเราจึงมักกลายเป็นสองขั้วไปโดยปริยาย ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วเส้นแบ่งเหล่านั้นอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ มีอยู่จริงหรือเปล่า? เราอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆรอบตัวเรา รวมทั้งผู้คนมากมายโดยที่เรามองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงและคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลกที่เราจะมีความคิดแบบนั้น เมื่อย้อนดูรูปแบบของสังคม แนวคิดของผู้คนส่วนใหญ่ คติและความเชื่อต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรามีกรอบที่ครอบเราไว้ เราแทบจะรู้ว่ากระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบของชีวิตคืออะไร เรียนโรงเรียนดีๆเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เพื่อให้ได้งานที่ดี เพื่อให้มีฐานะที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม ถ้าไม่คิดอะไรมากก็เดินไปตามทางนั้น ทางที่มีคนขีดไว้ให้เดิน ฝืนใจเดินๆไปมีความสุขบ้าง ไม่มีความสุขบ้าง . . แล้ววันนึงก็เกิดคำถามขึ้นมาว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่? และตกลงแล้วเราเกิดมาเพื่ออะไร? สุดท้ายแล้วคำตอบนั้นเหมือนจะมาจากภายในใจของเราเอง การเรียนรู้จากภายในตัวเราที่บางทีก็อธิบายไม่ได้ ไม่มีเหตุผลแต่รู้สึกได้ สัมผัสได้ บางทีทางนั้นเหมือนจะชัดเจนกว่าภาพที่มีคนอื่นอธิบายไว้ให้อย่างละเอียดเสียอีก สิ่งที่สังคมยอมรับ เราอาจไม่ยอมรับ สิ่งที่เรายอมรับบางทีอาจเป็นเรื่องที่โดนต่อต้านจากสังคม ในกระแสสังคมที่ไหลไปไม่หนุดนิ่ง อาจง่ายกว่าถ้าเราปล่อยตัวไหลไปตามกระแส แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์อะไร และชีวิตจะมีความสุขยังไง ถ้าเราเกิดมาเพื่อแค่ว่าพยายามจะเป็นเหมือนคนอื่น บางทีแม้ว่าการทวนกระแส การหยุดอยู่นิ่งๆต้านกระแสเหล่านั้นอาจทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังในการใช้ชีวิต . . .

ทำอย่างไร ถึงจะเป็นอิสระจากสิ่งต่างๆ แนวคิดต่างๆ คำวิจารณ์ของผู้คน และเรียนรู้ด้วยจิตที่ว่างจริงๆ
ทำอย่างไร เราถึงจะพบจุดยืนของตัวเอง ทางเดินของตัวเราเองและวิถีของเราเอง

. . . ไม่รู้เหมือนกันนะ บางทีคงต้องเริ่มตัด ปล่อยวาง และลดอคติต่างๆนานา ของตัวเองลงบ้าง โดยเฉพาะการตัดสินในเรื่องต่างๆหรือคนอื่นๆ มองในแบบที่มันเป็นโดยไม่ต้องปรุงแต่งหรือวิจารณ์ อาจทำให้เราเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม เมื่ออคติทั้งบวกและลบลดลง ประสาทสัมผัสน่าจะเปิดกว้างมากขึ้นนะ และใช้ชีวิตเป็นปัจจุบันมากขึ้น ลดความยึดติดจากสิ่งที่คุ้นเคย เปิดใจให้กว้าง ทำสมองกลวงๆบ้าง น่าจะดี

เขียนตรงประเด็นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะ อ่านเข้าใจกันหรือเปล่า ยังไงก็ลองแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะการเรียนรู้ตนเองกันดีกว่า


คำถามสุดท้ายก็คือ . . เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า?

ธีรินทรา

5 ความคิดเห็น:

  1. >>>คุณจะเฝ้าดูได้ก็ต่อเมื่อจิตเงียบมาก เช่นเดียวกับที่คุณสามารถฟังใครซักคนที่กำลังพูดได้ก็ต่อเมื่อจิตของคุณไม่คุยจ้อหรือพูดกับตัวเองถึงปัญหาและความกังวลของตน<<<<
    รู้สึกชอบประโยคนี้มากเพราะถ้าเราไม่ได้ใส่ใจฟังทุกอย่างที่ผ่านหูเราไปมันก็เป็นแค่เพลียงคลื่นเสียงที่กระทบเข้าแล้วก็กระทบออกเท่านั้นไม่ได้มีความหมายอะไรเลย

    อีกอย่างนึงที่รู้สึกได้ เวลาและวารีไม่เคยรอใครถ้าอยากทำอะไร และสิ่งที่เราทำไม่เบียดบัง หรือไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดก็รีบทำเถอะคะ!!!
    เพราะเราไม่รู้ว่าพุ่งนี้หรืออีกกี่นาทีต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นกัยชีวิตของเรา
    ที่สำคัญเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดแต่ก็ไม่ใช่เป็นตัวของตัวเองจนไม่ฟังใครเลยเช่นกัน
    ทางสายกลางยังใช้ได้ทุกยุคและทุกสมัยจริงๆๆคะ

    ตอบลบ
  2. อ่านข้อความของอาม แล้วทั้งในเมล์และการแนะนำหนังสือ

    ยินดีต้อนรับสู่การเรียนรู้ที่อาจจะมีความแตกต่าง กับ การเรียน ที่ผ่านมา

    เปิดใจใสใส เพื่อให้เกิดการเรียนรู้นะคะ

    มีหนังสืออีกหลายเล่มที่อยากแนะนำ

    1. เรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (http://jitwiwat.blogspot.com/2004/11/blog-post_20.html)

    2. ปาฎิหารย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (http://buddhism.hum.ku.ac.th/book/being_awake.html)

    สติและสันติ

    อาจารย์จงดี

    ตอบลบ
  3. พี่พยายามจะเข้าใจตัวเองค่ะ แต่ยอมรับว่าบางงเรื่องยังไม่สามารถเข้าใจตัวเองได้เลย มีบางสิ่งที่ทำไปแล้ว กลับมานั่งคิดว่าเราทำไปทำไม ซึ่งคำตอบคือ ฉันไม่เข้าใจ ตัวเองเลย สิ่งหนึ่งที่หนังสือที่อามแนะนำ เป็นสิ่งที่ดีค่ะ ถ้าเราจะนำมาฝึกปฏิบัติใช้กับตัวเราเอง เหมือนทุกครั้งที่่บอก ทุกอย่างอยู่ที่สติ มีสติก็มีคำตอบค่ะ

    ตอบลบ
  4. อีกอย่างค่ะ อาม พี่ว่าน้องกวางนี้ล่ะ เข้าถึงในเรื่องการทำความเข้าใจกับตัวเอง เพราะแอบเห็นน้องกวางเขาพูดกับตัวเองบ่อยๆๆ (แอบแซวน้อง อิอิ)

    ตอบลบ
  5. ..ไม่รู้เหมือนกันนะ บางทีคงต้องเริ่มตัด ปล่อยวาง และลดอคติต่างๆนานา ของตัวเองลงบ้าง โดยเฉพาะการตัดสินในเรื่องต่างๆหรือคนอื่นๆ มองในแบบที่มันเป็นโดยไม่ต้องปรุงแต่งหรือวิจารณ์ อาจทำให้เราเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม เมื่ออคติทั้งบวกและลบลดลง..
    ** ทุกวันนี้ได้พยายามปรับปรุงตัวเองนะอาม แต่มันก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็ทำเท่าที่จะทำได้หละนะ อาจจะไม่ 100% แต่ที่สำคัญคือการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ..

    ตอบลบ