กฎแห่งความโชคดีที่สำคัญข้อหนึ่งคือ
“กฎแห่งความคาดหมาย” หรือ The Law of Expectation
ซึ่งกล่าวว่า
“Whatever you expect, with confidence, becomes
your own self-fulfilling prophecy.”
“สิ่งที่คุณคาดหมายด้วยความมั่นใจ จะกลายเป็นคำทำนายที่
เป็นจริงด้วยตัวของมันเอง”
Richard Wiseman นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งได้ทำวิจัย
อย่างละเอียดในเรื่องโชค ศึกษาคนที่เรียกว่า “โชคดี” และ
ได้เขียนเป็นหนังสือชื่อว่า The Luck Factor
หนึ่งในผลสรุปข้อสำคัญของ Wiseman ก็คือ
“คนโชคดีคาดหมายว่าตนเองจะโชคดี”
ผมขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของผมเอง
..ตอนผมมีโอกาสได้เข้าไปเรียนปริญญาโท
เอกการอำนวยเพลง (Conducting) ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน
ประเทศสหรัฐอเมริกา (ปี ค.ศ. 1995-6) เป็นวิชาเอกที่
เข้ายากมาก เพราะมีชื่อเสียงทางด้านการสอนวาทยกรเป็น
อันดับ Top 3 ของอเมริกาในขณะนั้น ปีหนึ่งรับแค่สองคน
จากผู้สมัคร 200 กว่าคน
เนื่องจากปริญญาโทมีสองปี จึงมีนักเรียนทั้งหมดแค่สี่คน
แน่นอน เมื่อผมเข้าไปใหม่ ๆ ก็ยกย่องรุ่นพี่และอยากเรียนรู้
จากพวกเขา เพราะรู้สึกว่า เขาต้องเก่งมากแน่ อีกทั้งเขา
เป็นคนอเมริกันทั้งคู่ ก็ยิ่งรู้สึกว่าเขารู้มากกว่าเราเยอะ
ทั้งขนบธรรมเนียม ภาษา ผู้คน วิชาความรู้ และที่สำคัญ
วัฒนธรรมอเมริกัน
รู้สึกตัวว่าตนเองเป็น “บ้านนอก” นิด ๆ
คนหนึ่งนั้นเรียนจบปริญญาตรีเกียรตินิยมมาจากมหาวิทยาลัย
Yale ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงและมีเกียรติมาก
(บุคคลสำคัญ ๆ ของอเมริกาหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดี
George W. Bush ก็จบจากที่นั่น)
โอกาสที่เขาเหล่านั้นจะก้าวหน้าในประเทศของเขาเองมีมาก
กว่าผมมาก
แต่เมื่อรู้จักไปนาน ๆ ก็ได้รู้ว่า ความคาดหมายของเพื่อนร่วม
คณะทั้งสามคน สำหรับผมแล้ว “ธรรมดาเหลือเกิน”
ในความคิดของพวกเขา เป้าหมายที่ “ยิ่งใหญ่” ที่เขาอยากได้
กันมากที่สุดหลังได้ปริญญาก็คือ มีงานทำ
พวกเขาจะตื่นเต้นกันมากเมื่อได้ยินว่า มีศิษย์เก่าคนไหน
“ได้งานทำ” แล้ว เสมือนเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
(ซึ่งผมมาเรียนรู้ทีหลังว่า ในวงการวาทยกร การ “มีงานทำ”
ก็เป็นความสำเร็จแล้ว เพราะวาทยกรอเมริกัน 99% ตกงาน!)
ผมแปลกใจมาก เพราะแทบไม่เชื่อว่า “ความคาดหมาย”
ของบุคคลที่ถือว่าเป็นมันสมองในมหาวิทยาลัยชั้นนำของ
ประเทศอเมริกาจะ “น่าเบื่อ” ขนาดนี้
ไม่ใช่ว่าผมหยิ่ง หรือคิดว่าผมดีหรือเก่งกว่าเขา เพราะผมไป
อเมริกาแบบไม่มีต้นทุน นอกจากความทะเยอทะยานกับ
ความต้องการแสวงหาโอกาสที่ไม่มีในบ้านของตนเอง
ความตั้งใจและ “ความคาดหมาย” ของผมตั้งแต่ออกจาก
ประเทศไทย ก็คือ
“ผมต้องการ ‘พิชิต’ อเมริกาให้ได้”
ผมไม่แค่ต้องการให้ “ได้งาน” เท่านั้น
ผมต้องการ “มีชื่อเสียง”
แค่ทำงานไปวัน ๆ ได้เงินเดือนแบบเลี้ยงตัวไปได้เรื่อย ๆ
สำหรับผมแล้ว “ไม่คุ้ม”
ไม่คุ้มที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนถึงอเมริกา
ไม่คุ้มกับที่ผมละทิ้งโอกาสมีอาชีพที่ “มั่นคง”
ที่ประเทศของตนเอง
ไม่คุ้มที่ต้องห่างเหินจากครอบครัวไปทำมาหากินประเทศคนอื่น
ความคาดหมาย (Expectation) ที่ผมมีกับอาชีพของผมต่างกับ
เพื่อนร่วมชั้นอย่างสิ้นเชิง
ผลหรือครับ?
เหมือนกับว่า “โชค” นั้นเข้าข้างผมตลอดเวลา
ตลอดเวลาที่ผมมีอาชีพอยู่ในอเมริกานั้น ถึงตอนนี้เป็นเวลา
สิบกว่าปีแล้ว ผมได้ตักตวงเอาโอกาสที่อเมริกามีให้ได้มากกว่า
เพื่อนร่วมชั้นหลายเท่า
ได้ทุนที่เพื่อน ๆ ชาวอเมริกันไม่ได้ ได้โอกาสที่เขาไม่ได้
ในขณะที่เพื่อนยังเป็นแค่นักศึกษากันอยู่ ผมได้เดินทางทั่ว
อเมริกาและยุโรปไปทำงาน เข้าคอร์สพิเศษ พบปะผู้คน
และได้รับความสนใจต่าง ๆ จากสื่อของอเมริกา
จนถึงตอนนี้ 10 กว่าปีให้หลัง เพื่อน ๆ เหล่านั้นก็ยังกระโดด
จากงานหนึ่งไปอีกงานหนึ่งในระดับเล็ก ๆ พอ ๆ กัน
ไม่ค่อยก้าวหน้าขึ้นเท่าไรนัก
เพราะเป้าหมายของเขาคือแค่ “ขอให้มีงานทำ”
ผมรู้ว่าไม่ใช่เป็นเพราะความสามารถที่เป็นทุนเดิมของผม
มีมากกว่าเพื่อนร่วมคณะคนอื่น
แต่เป็นเพราะ “ความคาดหมาย” ของผมมีมากกว่า!
เมื่อความคาดหมายเราสูง เราจะ “ดึงดูด” สิ่งที่มันตรงกับ
ความคาดหมายของเราเข้ามา..
(บัณฑิต อึ้งรังษี)
ดิว..