วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

นิยามคำว่าพอ

บินสูงแล้วหวั่นตามฝันแล้วพ่าย
มันย่อมเป็นได้ไม่ต้องเสียใจ
ชีวิตคนเราเท่านี้ใช่ไหม
เหนื่อยมาเท่าไหรอยากเพียงได้หลับสบาย
เพียงแค่ไออุ่นให้หนุนพักพิง
เพียงแค่พออิ่มไม่เดือดร้อนใคร
เพียงแค่สักคนอยู่เคียงข้างกาย
พอเท่านี้เองเราคงได้หลับฝันดี
เราจะครบอย่างคำว่าพอแค่รู้พอเพียงเท่านี้
เพียงชีวิตพอใจในสิ่งที่มี
ไม่วุ่นวายจะมองสูงหรือต่ำไปทำไม
เพียงแค่เหลียวมองข้างกาย
จะพบคนที่พอดีกับเรา
ไม่คิดเสียใจในสิ่งที่ไม่มี
มองที่เรามีล้ำค่ามากมาย
ไม่ต้องไปเปรียบไปเทียบกับใคร
สุขที่แท้จริงอยู่ที่หัวใจของเรา
เราจะครบอย่างคำว่าพอแค่รู้พอเพียงเท่านี้
เพียงชีวิตพอใจในสิ่งที่มี
ไม่วุ่นวายจะมองสูงหรือต่ำไปทำไม
เพียงแค่เหลียวมองข้างกาย
สุขที่แท้คือการได้มีวันนี้ทุกทุกวัน
มีกันแล่ะกันก็พอ เพียง..พอ..

ดิว..

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วิชาสุดท้าย...ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

เคยอ่านบทความนี้จากหนังสือเล่มนึงเมื่อหลายปีก่อน แล้วก็ชอบมากๆ
วันนี้ได้อ่านผ่านตาอีกครั้งในเวป...เลยเอามาแบ่งปันนะ (ไม่รู้ว่าจะเคยอ่านกันรึยัง...ยาวหน่อยนะ แต่ดีมากๆเลย^^")
......


ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาคุยกับน้องๆ ทั้งหลาย ในวันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งโลก ผมไม่เคยเรียนจบมหาวิทยาลัย – ตรงนี้เป็นก้าวที่ใกล้ที่สุดแล้วของผม วันนี้ผมอยากเล่าเรื่องจากชีวิตจริงของผมให้น้องๆ ฟังสามเรื่อง ไม่มีอะไรมากครับ แค่สามเรื่อง

เรื่องแรกเป็นเรื่องของการเชื่อมจุดครับ
ผมลาออกจากวิทยาลัยรีด (Reed College) หลังจากเรียนไปได้ 6 เดือน แต่ผมก็ยังไปนั่งเรียนต่ออีกประมาณ 18 เดือน ก่อนที่จะลาออกจริงๆ แล้วทำไมผมถึงลาออก?
สาเหตุมันมีมาตั้งแต่ก่อนผมเกิด แม่แท้ๆ ของผมเป็นบัณฑิตสาวที่ยังไม่แต่งงาน แม่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะยกผมให้เป็นลูกบุญธรรมของคนที่เรียนจบ มหาวิทยาลัย ท่านก็เลยจัดการให้ทนายความคนหนึ่งกับภรรยารับอุปการะผมตั้งแต่เกิด ทีนี้ทั้งคู่เกิดเปลี่ยนใจขึ้นมาในนาทีสุดท้าย พวกเขาคิดว่าเขาอยากอุปการะเด็กผู้หญิงมากกว่า ดังนั้น พ่อแม่บุญธรรมของผมซึ่งมีรายชื่ออยู่ในบัญชีผู้รอรับการอุปการะ ก็เลยได้รับโทรศัพท์ในตอนกลางดึกบอกว่า “เรามีทารกเพศชาย คุณอยากอุปการะเขาไหม?” พ่อแม่บุญธรรมผมตอบว่า “แน่นอน” ตอนหลังแม่แท้ๆ ของผมพบว่าแม่บุญธรรมไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย และพ่อบุญธรรมก็ยังเรียนไม่จบกระทั่งชั้นมัธยมปลาย เธอก็เลยไม่ยอมเซ็นเอกสารส่งตัวผม มายอมเซ็นก็หลายเดือนต่อมา หลังจากที่พ่อกับแม่สัญญากับว่า วันหนึ่งผมจะได้เรียนมหาวิทยาลัย
17 ปีต่อมา ผมก็ได้เรียนมหาวิทยาลัยจริงๆ แต่ด้วยความไร้เดียงสา ผมเลือกมหาวิทยาลัยที่แพงเกือบเท่ากับสแตนฟอร์ด ทำให้พ่อแม่ผู้ใช้แรงงานของผมต้องใช้เงินเก็บเกือบทั้งหมดส่งผมเรียน หลังจากเรียนได้ 6 เดือน ผมก็ไม่เห็นประโยชน์ของมันอีก ผมไม่รู้ว่าผมต้องการอะไรจากชีวิต และผมก็ไม่รู้ว่าใบปริญญาจะช่วยให้ผมค้นหาคำตอบได้อย่างไร ในขณะที่ผมกำลังถลุงเงินที่พ่อกับแม่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิต ผมก็เลยตัดสินใจลาออก ด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างดำเนินไปด้วยดีในที่สุด ตอนนั้นน่ากลัวเหมือนกันนะครับ แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่านั่นเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต นาทีที่ผมลาออก แปลว่าผมไม่ต้องไปเรียนวิชาที่ผมไม่สนใจอีกต่อไป ผมก็เลยไปนั่งเรียนในวิชาที่ผมสนใจแทน
ชีวิตของผมช่วงนั้นไม่ได้โรแมนติคอะไรหรอกครับ ผมไม่มีห้องพัก ก็เลยต้องไปนอนบนพื้นห้องของเพื่อนๆ ผมเก็บขวดโค้กเอาไปแลกกับเงิน 5 เซ็นต์สำหรับจ่ายเป็นค่าอาหาร และทุกๆ วันอาทิตย์ ผมจะเดินเป็นระยะทาง 7 ไมล์จากฟากหนึ่งของเมืองไปอีกฟากหนึ่ง เพื่อไปกินอาหารดีๆ ซักมื้อที่วัดพระกฤษณะ (Hare Krishna Temple) ผมรักมันมาก การที่ผมปล่อยชีวิตไปตามความอยากรู้อยากเห็นและสัญชาตญาณ ทำให้ผมได้พบกับหลายๆ สิ่งโดยบังเอิญ ซึ่งมีค่าสำหรับผมมากในเวลาต่อมา ผมจะยกตัวอย่างซักเรื่องนะครับ
วิทยาลัยรีดในสมัยนั้นมีคอร์สสอนการคัดลายมือ (calligraphy) ที่น่าจะดีที่สุดในประเทศ ในบริเวณมหาวิทยาลัย โปสเตอร์ทุกแผ่น ป้ายติดลิ้นชักทุกอัน ล้วนเขียนด้วยลายมือที่สวยมากๆ เพราะผมไม่ต้องไปเรียนวิชาบังคับหลังจากลาออกแล้ว ผมก็เลยตัดสินใจไปเรียนคอร์สนี้ เพราะอยากรู้ว่าเขาเขียนกันอย่างไร ผมเรียนวิธีเขียนตัวอักษรแบบเซรีฟ (serif) แบบซาน เซรีฟ (san serif) เรียนวิธีเว้นช่องไฟระหว่างตัวอักษร เรียนรู้เทคนิคการเรียงพิมพ์อันยอดเยี่ยม ซึ่งล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสวยงาม ประวัติศาสตร์ และศิลปะที่มีความลึกล้ำ ในแง่มุมที่วิทยาศาสตร์ไม่อาจอธิบายได้ ผมรู้สึกว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าทึ่งมาก
วิชานี้ดูเหมือนไม่มีอะไรที่จะนำมาใช้ในชีวิตจริงของผมได้เลย แต่ 10 ปีต่อมา ตอนที่เรากำลังออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชรุ่นแรก ความรู้เหล่านี้ก็ย้อนกลับมาใหม่ เราใส่มันลงไปในเจ้านี่หมดเลยครับ ทำให้แมคฯเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในโลกที่มีตัวพิมพ์ที่สวยงาม ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนวิชานั้น ป่านนี้แมคฯก็คงไม่มีตัวพิมพ์หลากหลายรูปแบบหรือตัวพิมพ์ที่เว้นช่องไฟในสัด ส่วนที่เหมาะสม และเพราะวินโดวส์ใช้วิธีก็อปปี้แมคฯเป็นหลัก นั่นก็หมายความว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไปก็คงไม่มีด้วย ถ้าผมไม่ลาออก ผมก็คงไม่ได้ไปนั่งเรียนวิชาคัดลายมือนี้ และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็คงไม่มีตัวพิมพ์ที่สวยงาม แน่นอนครับ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเชื่อมโยงจุดต่างๆ เหล่านี้ได้ตอนผมเป็นนักศึกษา แต่มันกลับกลายเป็นเรื่องง่ายดาย เมื่อผมมองย้อนกลับไปในอีก 10 ปีต่อมา
ไม่มีใครสามารถเชื่อมจุดจากปัจจุบันไปยังอนาคตได้ – เราทำได้เพียงเชื่อมจากปัจจุบันไปหาอดีตเท่านั้น เพราะฉะนั้น น้องๆ ต้องมั่นใจว่าอะไรที่ทำอยู่ตอนนี้จะเชื่อมไปเองในอนาคต น้องๆ ต้องเชื่อมั่นในอะไรซักอย่างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ โชคชะตา ชีวิต กฎแห่งกรรม หรืออะไรก็แล้วแต่ ความเชื่อมั่นแบบนี้ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง และมันทำให้ชีวิตผมเปลี่ยนไปมาก


เรื่องที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและการสูญเสีย
ผมเป็นคนโชคดี ที่ค้นพบงานที่ผมรักตั้งแต่อายุยังน้อย ผมกับวอซ (Steve Wozniak) ก่อตั้งแอปเปิลในโรงรถของพ่อกับแม่ผม ตอนผมอายุยี่สิบ เราทำงานกันหนักมากครับ ภายใน 10 ปี แอปเปิลขยายจากแค่เราสองคนในโรงรถ เป็นบริษัทมูลค่ากว่า 2 พันล้านเหรียญที่มีพนักงานกว่า 4,000 คน ตอนนั้นเราเพิ่งเปิดตัวผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเรา – เครื่องแมคอินทอช – 1 ปีก่อนที่ผมจะอายุครบสามสิบ แล้วผมก็ถูกไล่ออก ทำอย่างไรเราถึงจะถูกไล่ออกจากบริษัทที่เราเป็นคนก่อตั้งน่ะหรือครับ? คือว่าเมื่อแอปเปิลโตขึ้น เราก็จ้างคนที่เราคิดว่าเก่งมากๆ มาช่วยบริหาร ปีแรกเหตุการณ์ก็ราบรื่นดี แต่หลังจากนั้นวิสัยทัศน์ของเราก็เริ่มแยกทางกัน จนในที่สุดเราก็ไปด้วยกันไม่ได้ เมื่อถึงจุดนั้น คณะกรรมการบริษัทเลือกอยู่ข้างเขา ผมก็เลยถูกไล่ออกตอนอายุสามสิบ แล้วก็ออกแบบเป็นข่าวดังมากด้วย ในพริบตาเท่านั้น สิ่งที่ผมทุ่มเทให้ทั้งชีวิตก็มลายหายไป มันเป็นเรื่องที่สะเทือนใจผมมาก
ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรเป็นเวลาหลายเดือนหลังจากนั้น ผมรู้สึกว่าผมทำให้เจ้าของธุรกิจรุ่นก่อนผิดหวัง รู้สึกว่าผมทำไม้ผลัดตกตอนที่เขากำลังหยิบยื่นมันมาให้ผม ผมไปพบเดวิด แพ็คการ์ด (David Packard) และบ็อบ นอยซ์ (Bob Noyce) เพื่อขอโทษพวกเขาที่ทำทุกอย่างพังพินาศ ผมเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวที่โด่งดัง ช่วงหนึ่งผมคิดถึงขนาดจะหนีไปจากวงการ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็เริ่มคิดได้อย่างช้าๆ ว่า ผมยังรักในสิ่งที่ผมทำอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นที่แอปเปิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนี้เลย ผมถูกไล่ออก แต่ผมยังมีความรักอยู่ นั่นทำให้ผมตัดสินใจเริ่มต้นใหม่
ตอนนั้นผมไม่ได้คิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่าการถูกไล่ออกจากแอปเปิลกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับผม ภาระอันหนักอึ้งจากความสำเร็จ แปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกเบาสบาย เมื่อผมกลับกลายเป็นมือใหม่ที่มีความเชื่อมั่นน้อยลง มันทำให้ผมมีอิสรภาพ ที่จะเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการสร้างสรรค์ที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต
ในช่วง 5 ปีหลังจากนั้น ผมก่อตั้งบริษัท เน็คสท์ (NeXT) และบริษัท พิกซาร์ (Pixar) ก่อนที่จะตกหลุมรักผู้หญิงมหัศจรรย์คนหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นภรรยาของผม พิกซาร์สร้างภาพยนตร์ขนาดยาวที่เป็นการ์ตูนแอนิเมชั่นล้วนๆ เรื่องแรกของโลกคือ ทอย สตอรี่ (Toy Story) และตอนนี้ก็เป็นสตูดิโอแอนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก หนึ่งในเหตุการณ์พลิกผันอันน่าพิศวงก็คือ เมื่อแอปเปิลซื้อกิจการของเน็คสท์ ผมเลยได้กลับคืนสู่แอปเปิล และเทคโนโลยีที่เราพัฒนาขึ้นที่เน็คสท์ ก็กลายเป็นหัวใจของแอปเปิลในยุคที่กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ตอนนี้ลอรีน (Laurene) กับผมมีครอบครัวที่อบอุ่นร่วมกัน
ผมเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าแอปเปิลไม่ไล่ผมออก แม้มันจะเป็นยาที่ขมมาก แต่ผมก็คิดว่าเป็นยาที่คนป่วยต้องการพอดี บางครั้งชีวิตก็กระแทกเราเหมือนอิฐ อย่าเสื่อมศรัทธานะครับ ผมเชื่อว่าสิ่งเดียวที่ทำให้ผมผ่านพ้นช่วงนั้นมาได้คือ ความรักในสิ่งที่ผมทำ น้องๆ ต้องหาสิ่งที่ตัวเองรัก ผมหมายถึงทั้งงานและคนรัก เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเราจะหมดไปกับงาน วิธีเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขกับการทำงานคือ เมื่อเราทำงานที่ยอดเยี่ยม และวิธีเดียวที่จะทำให้งานออกมายอดเยี่ยมคือ เมื่อเรารักงานที่เราทำ ถ้าน้องๆ ยังหางานนั้นไม่เจอ จงหาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง งานก็เหมือนเรื่องของหัวใจเรื่องอื่นๆ – น้องจะรู้ว่ามัน “ใช่” เมื่อเจอกับมัน และการทำงานก็เหมือนความสัมพันธ์ที่ดีแบบอื่น คือมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น ผมอยากย้ำให้น้องๆ ตามหางานที่รักจนกว่าจะเจอ อย่ายอมท้อถอย


เรื่องที่สามเกี่ยวกับความตายครับ
ตอนผมอายุสิบเจ็ด ผมอ่านคำคมประโยคหนึ่งที่ว่าไว้ทำนองนี้ “ถ้าคุณใช้ชีวิตในแต่ละวันเหมือนมันเป็นวันสุดท้ายของคุณแล้วละก็ วันหนึ่งคุณจะพบว่าสิ่งที่ทำไปนั้นถูกต้อง” ผมรู้สึกประทับใจกับประโยคนี้มาก ตั้งแต่นั้นมากว่า 33 ปี ผมมองหน้าตัวเองในกระจกทุกวัน แล้วถามตัวเองว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของผม ผมจะอยากทำสิ่งที่ผมกำลังจะทำวันนี้หรือเปล่า?” แล้วเมื่อไหร่ที่คำตอบคือ “ไม่” ติดกันหลายวัน ผมจะรู้ตัวว่าผมต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างแล้ว
ความสำนึกว่าผมจะต้องตายในไม่ช้า เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่ผมใช้ในการตัดสินใจครั้งสำคัญๆ ของชีวิต เพราะเกือบทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความคาดหวัง ความภาคภูมิใจ ความอึดอัดคับข้องหรือความผิดพลาดทั้งหลาย ล้วนไม่มีความหมายอะไรเลยเมื่อเทียบกับความตาย ชีวิตควรจะเหลือทิ้งไว้เพียงสิ่งที่สำคัญจริงๆ เท่านั้น การตระหนักว่าวันหนึ่งคนเราทุกคนจะต้องตาย เป็นหนทางที่ดีที่สุดที่ผมรู้จักสำหรับการก้าวพ้นความคิดที่ว่า เรามีอะไรที่จะต้องสูญเสีย เราทุกคนตัวเปล่าเล่าเปลือยอยู่แล้วครับ ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่เราจะไม่ทำตามสิ่งที่ใจเราปรารถนา
เมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา หมอบอกว่าผมเป็นมะเร็ง ผมไปเข้าเครื่องสแกนตอนเจ็ดโมงครึ่ง ผลออกมาชัดเจนว่ามีเนื้อร้ายที่ตับอ่อนของผม ตอนนั้นผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตับอ่อนคืออะไร หมอบอกว่าเขาค่อนข้างแน่ใจว่าผมเป็นมะเร็งแบบที่รักษาไม่หาย และผมไม่น่าจะอยู่ได้นานเกิน 3 ถึง 6 เดือน หมอบอกให้ผมกลับบ้านไปสะสางเรื่องต่างๆ ที่คั่งค้างอยู่ ก็เป็นโค้ดของหมอที่แปลว่าให้ไปเตรียมตัวตายนั่นแหละครับ แปลว่าให้พยายามบอกลูกๆ ถึงสิ่งต่างๆ ที่คนปกติมีเวลา 10 ปีจะบอก ให้บอกภายในไม่กี่เดือน แปลว่าให้เก็บความรู้สึกทุกอย่างให้เรียบร้อย ให้ครอบครัวไม่ยุ่งยากใจเมื่อถึงเวลา แปลว่าให้เอ่ยคำลา
ผมหมกมุ่นอยู่กับคำวินิจฉัยนั้นทั้งวัน เย็นวันนั้นผมไปเข้ากระบวนการไบอ็อพซี่ (biopsy) คือหมอต้องหย่อนกล้องเอ็นโดสโคป (endoscope) ลงไปในคอผม ผ่านกระเพาะไปยังลำไส้ เอาเข็มฉีดยาแทงเข้าตับอ่อน ดูดเอาเซลล์มะเร็งบางเซลล์ออกมา ตอนนั้นผมอยู่ใต้ฤทธิ์ยาชา ภรรยาผมซึ่งอยู่ในห้องด้วยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ส่องกล้องจุลทรรศน์ดูเซลล์มะเร็ง หมอหลายคนถึงกับร้องไห้ เพราะปรากฏว่ามันเป็นมะเร็งตับอ่อนชนิดหายากซึ่งสามารถรักษาให้หายด้วยการ ผ่าตัดได้ หลังจากนั้นผมก็เข้ารับการผ่าตัด ตอนนี้ผมสบายดีแล้วครับ
นั่นเป็นเหตุการณ์ที่นำให้ผมใกล้ชิดกับความตายมากที่สุดในชีวิต ผมหวังว่ามันจะเข้ามาใกล้ที่สุดแล้ว สำหรับในเวลาอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เพราะผมได้ประสบด้วยตัวเอง ผมเลยสามารถเล่าสิ่งต่อไปนี้ให้น้องๆ ฟังด้วยความมั่นใจกว่าตอนที่ความตายเป็นแค่เรื่องนามธรรมสำหรับผม
ไม่มีใครอยากตายหรอกครับ ขนาดคนที่อยากไปสวรรค์ก็ยังไม่อยากตายก่อนไปถึง ถึงกระนั้นเราทุกคนก็ต้องตายทั้งนั้น ไม่มีใครเคยรอดพ้นจากมันได้ แต่นั่นก็เป็นสัจธรรมที่ควรจะเป็น เพราะความตายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ธรรมชาติให้เรามา เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง กำจัดของเก่าเพื่อสละพื้นที่ให้กับของใหม่ ตอนนี้น้องๆ ทุกคนเป็นของใหม่ แต่ในอีกไม่นานนับจากนี้ น้องๆ จะกลายเป็นของเก่าที่ธรรมชาติต้องกำจัด ขอโทษที่อาจจะฟังดูน่าเศร้านะครับ แต่มันเป็นความจริง
เวลาของน้องๆ มีจำกัด ดังนั้น อย่าทำให้มันเปล่าประโยชน์ด้วยการใช้ชีวิตของคนอื่น อย่าตกเป็นทาสของกฎเกณฑ์ – นั่นคือการใช้ชีวิตตามความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงของคนอื่นๆ ดังกลบเสียงของหัวใจเราเอง และที่สำคัญที่สุดคือ จงมีความกล้าที่จะเดินตามสิ่งที่หัวใจและสัญชาตญาณเรียกร้อง ทั้งคู่รู้อยู่แล้วล่ะครับว่าน้องๆ อยากเป็นอะไร ทุกอย่างที่เหลือเป็นเรื่องรองลงมาทั้งนั้น
ตอนผมเป็นเด็ก มีหนังสือที่น่าอัศจรรย์มากเล่มหนึ่งชื่อ แคตาล็อคของโลก (The Whole Earth Catalog) ซึ่งนับเป็นคัมภีร์ไบเบิลของคนรุ่นผม คนที่คิดหนังสือเล่มนี้ชื่อ สจ๊วต แบรนด์ (Stewart Brand) เป็นคนเมืองเม็นโล ปาร์ค (Menlo Park) ไม่ไกลจากที่นี่เลยครับ เขาทำให้หนังสือนี้มีชีวิตขึ้นมาด้วยอารมณ์กวี นี่เรากำลังพูดถึงช่วงปลายทศวรรษ 1960 ก่อนยุคคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโปรแกรมเวิร์ด นั่นแปลว่าเจ้าสิ่งนี้ถูกผลิตขึ้นจากเครื่องพิมพ์ดีด กรรไกร และกล้องโพลารอยด์ คล้ายๆ กับกูเกิ้ลในรูปของกระดาษ แต่นี่คือ 35 ปีก่อนที่กูเกิ้ลจะเกิดนะครับ มันเป็นอุดมการณ์ที่ยิ่งใหญ่ และเต็มเปี่ยมด้วยเครื่องมือและไอเดียดีๆ มากมาย
สจ๊วตและทีมงานผลิต แคตาล็อคของโลก ออกมาได้ไม่กี่เล่ม ก่อนที่มันจะม้วนเสื่อไป เขาเข็นเล่มสุดท้ายออกมาราวกลางทศวรรษ 1970 ตอนนั้นผมมีอายุเท่าน้องๆ ตอนนี้ ปกหลังของเล่มนี้เป็นรูปถนนแถวชนบทยามเช้า แบบที่น้องๆ นักผจญภัยชอบไปโบกรถกันนั่นแหละครับ ใต้รูปเขียนว่า “อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความซื่อ” (Stay Hungry. Stay Foolish.) แล้วผมก็ใช้ประโยคนี้เป็นคติประจำใจมาตลอด และในวันนี้ วันที่น้องๆ ก้าวออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ผมขออวยพรน้องๆ ด้วยประโยคนี้ครับ
“อย่าทิ้งความกระหาย อย่าคลายความซื่อ”
ขอบคุณมากครับ




แปลและเรียบเรียงจากคำปราศรัยของ สตีฟ จ๊อบส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แอปเปิลคอมพิวเตอร์ และพิกซาร์ แอนิเมชั่น สตูดิโอ ในพิธีรับปริญญาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดย สฤณี อาชวานันทกุล


อาม

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สิ่งธรรมดาคือสิ่งพิเศษ...

ท่าน ติช นัท ฮันท์ พูดเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "ขอบคุณสรรพสิ่ง"

"ปาฏิหารย์ไม่ใช่การเดินบนน้ำ หรือบินอยู่บนอากาศ
แต่ปาฏิหารย์คือ การเดินอยู่บนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว"

ชีวิตเราเต็มไปด้วยเรื่อง "ธรรมดา" เช่น ตื่นมา อาบน้ำ แปรงฟัน
ขับรถไปทำงาน กินอาหารเที่ยงกับเพื่อนในที่เดิมๆ ตอนเย็นกลับมา
ก็เห็นหน้าภรรยาหรือสามีคนเดิมๆ ใส่ชุดธรรมดาๆ หน้าตาเราหรือก็ธรรมดาๆ
... เราส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นคนธรรมดาๆ มีชีวิตธรรมดาๆ กันทั้งนั้น


แต่ถ้าความ "ธรรมดา" นี้หมดไปล่ะ
เช่น อยู่ดีๆ ลูกเราเกิดเป็นมะเร็ง ไปมีเรื่องนอกบ้าน ติดยา คบเพื่อนไม่ดี
หรือสามีเราตายไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม หรือเราถูกไล่ออกจากงาน...
เรื่องก็จะ "ไม่ธรรมดา" ไปในทันที
และในเวลานั้นเอง เราจะหวนมาคิดเสียดายความ "ธรรมดา" จนใจแทบจะขาด...


ให้เรารีบชื่นชมกับความ "ธรรมดา" ที่เรามี

และใช้ชีวิตประหนึ่งว่า สิ่งนั้นคือสิ่งมหัศจรรย์ของจักรวาล
เพราะสิ่งธรรมดาๆแท้จริงแล้วคือ
สิ่งที่พิเศษที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์อย่างเรา

(ที่มา www.baanmaha.com)

จริงๆอามก็เคยอ่านหนังสือของท่าน ติช นัท ฮันท์ บ้างเหมือนกัน ท่านมีแนวความคิดที่เรียบง่าย ธรรมดา แต่น่าสนใจ
. . แปลกดีนะ ทุกวันนี้คนเราใช้ชีวิตไกลห่างออกจากคำว่า "ธรรมดา" กันไปทุกที

ธีรินทรา

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความเพียรที่บริสุทธ์และปัญญาที่เฉียบแหลม

                    ความเพียรที่บริสุทธิ์
เมื่อเห็นผลประโยชน์แท้จะบังเกิด เมื่อจิตพร้อมละโมหภูมิ
จึงมุ่งประกอบการใหญ่ให้สำเร็จ ด้วยปัญญาที่เฉียบแหลม
                       แล้วทำไป ทำไป..
ใครจะว่าแปลก ว่าประหลาด ก็อย่าได้หวั่น อย่าได้ไหว
                       แต่ทำไป ทำไป..
                   จนคนเห็นเป็นธรรมดา
  หากหยุดทำเมื่อไหร่คนจึงว่าแปลก ว่าประหลาด

                     ปัญญาที่เฉียบแหลม
                เมื่อได้ตริตรองไตร่ รอบคอบแล้ว
                 จึงคิด คิด คิด จนเห็นเป็นนิมิต
                  แล้วทำความเพียรที่บริสุทธิ์..
      

ที่มา: แนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ
โดย อนาวิน สุวรรณะ

วันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จิตนาการช่วยบำบัดความเครียด

"เคยคิดกันไหม ว่าทำไมเราถึงฝัน ทำไมเราจึงมีจิตนาการ และสิ่งที่ดูไม่มีวันเป็นจริงเหล่านี้ เป็นเรื่องไร้สาระ หรือช่วยให้เราสบายใจ" เคยมีคนกล่าวว่า หากความฝันของเราถูกสร้างขึ้นเพื่อระบายความเครียดก็นับว่าเป็นการบำบัดเพื่อลดความเครียดได้ บ่อยครั้งที่เรามักได้รับการแนะนำเวลาเครียดหรือคิดมาก ว่า ให้ลองนั่งฝึกสมาธิ หรือการนั่งในห้องที่อากาศเย็นสบาย มีเสียงเพลงเบาๆๆแล้วปล่อยใจจินตนาการไปในเชิงบวก เช่น เหมือนเรารู้สึกปวดหัว ให้ลองจิตนาการว่าความเครียดคือหมอกดำๆๆที่อยู่รอบตัวเรา แล้วมันก็จะจางหายไป หรืออาจลองจินตนาการถึงการตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยู่บนทุ่งหญ้า อาการเย็นสบาย หอมกลิ่นหญ้า กลิ่นดินลอยมา สิ่งเหล่านี้อาจเป็นการจินตนาการที่ช่วยบำบัดความเครียดออกไปจากชีวิตเราได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือ การฝึกจิตนาการและคิดเชิงบวกบ่อยๆๆ ต้องมาลองฝึกกันดูค่ะ

ขอแชร์นะคะ^^

พึ่งเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรคะ
แล้วได้รับฟัง พระบรมราโชวาท เลยอยากแชร์ให้ทุกคนคะ

....ความรู้ในสาขาวิชาที่บัณฑิตได้ศึกษามา
มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประกอบกิจการงานของแต่ละคน
ด้วยเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับปฎิบัติบริหารงานให้มีความเจริญก้าวหน้า
แต่ในความเป็นจริง ลำพังเพียงความรู้เพียงสาขาใดสาขาหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
อาจไม่ช่วยให้งานสำเร็จผลได้ตามเป้าหมาย หากต้องใช้ความรู้หลายๆด้าน
และบุคคลหลายๆคนเข้าประกอบส่งเสริมกัน
บัณฑิตได้รับทราบชัดดังนี้แล้ว เมื่ออกไปทำงานจึงควรหาโอกาสที่จะศึกษาเพิ่มเติม
ทั้งในวิชาเฉพาะและวิชาทั่วไป เพื่อให้มีความรู้ที่ยิ่งลึกซึ้งกว้างขวาง
นอกจากนี้ยังต้องตั้งใจประสานสัมพันธ์กับผู้ร่วมงานที่มีความรู้ความสามารถต่างกัน
แล้วศึกษาสังเกตการกระทำ และความคิดของบุคคลเหล่านั้นด้วยใจที่เป็นกลาง
ปราศจากอคติ พร้อมทั้งพยายามเรียนรู้วิชาการของกันและกันให้เข้าใจ
จะได้มีแนวทางในการนำหลักวิชาและความสามารถต่างๆมาใช้ร่วมกันให้ประสานสอดคล้อง
บัณฑิตผู้ปรารถนาความสำเร็จ จึงควรพิจารณาเรื่องที่พูดนี้ให้ได้ประโยชน์.......
พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553




วันพุธที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

"ไม่ปล่อยโอกาส"

คนไทยรุ่นก่อนๆ ไม่ค่อยพูดกับคนใกล้ชิดว่ารักเขา!
คงเป็นเพราะไม่เคยถูกสอนให้พูด จึงรู้สึกว่า ขัดเขินเมื่อจะต้องพูด!

ในสมัยก่อนมีพ่อแม่ไม่กี่คนละมั้งที่พูดกับลูกว่า "พ่อรักลูก"
หรือ "แม่รักลูก" โดยไม่ขัดเขิน!
เช่นเดียวกันกับในความสัมพันธ์ระหว่างสามีกัตัวหนาภรรยา
มีภรรยาไม่กี่คนที่จะพูดกับสามีว่า "ฉันรักเธอ" ยิ่งผู้เป็นสามีแล้วละก็
ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าภรรยาจะได้ยินคำว่า "ผมรักคุณ"ออกจากปากของเขา!
ทั้งๆ ที่ จริงๆ แล้วคนเหล่านั้นรักซึ่งกันและกัน!
พ่อแม่ก็รักลูก! สามีภรรยาก็รักกัน!
แต่ทำไมนะ คำว่า"รัก" จึงยากจะออกจากปากมาถึงกัน?
ทั้งๆ ที่ความรักแท้นั้นไม่ทำอันตรายใครเลย!
ไม่ทราบเหมือนกันว่า คนไทยไปเอาวัฒนธรรมในการแสดงความชื่นชมคนมาจากไหน?
เพราะคนไทยมักจะกล่าวแสดงความรักหรือแสดงความชื่นชมต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
อย่างสะดวกปากสะดวกใจก็ต่อเมื่อผู้ที่เรากล่าวถึงนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว!
ดังนั้น ที่ๆ คนไทยจะพูดคำว่ารักได้ง่ายกว่าปกติคือ ในงานศพของคนที่เรารัก!

คุณครับ! คุณต้องการให้คนที่คุณรักและรักคุณ บอกคุณว่าเขาหรือเธอรักคุณ
เฉพาะในงานศพของคุณหรอกหรือ? คำตอบคงจะเป็นคำว่า "ไม่ใช่"!
ในทำนองเดียวกัน คนที่คุณรัก เขาก็ต้องการคำว่า "รัก" ออกจากปากของคุณในเวลานี้
ไม่ใช่ในงานศพของเขาเช่นกัน!
ฉะนั้น การบอกว่า "รัก"ในงานศพ แม้จะดี แต่ก็ไม่ใช่ "โอกาส"ที่ดีที่สุด
แต่การบอกคำว่า "รัก" ในยามที่ผู้รับต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เขา
"กำลังจะเป็นศพ" (เพราะขาดกำลังใจ) ถือว่าเป็น "โอกาส"ที่ควรฉวยคว้าไว้มากที่สุด!

ว่าแต่ว่าวันนี้ คุณฉวยโอกาสบอกคนที่คุณรักแล้วหรือยังว่า คุณรักเขา?

ที่มา : หนังสือกำลังใจไม่ไกลเกินไขว่คว้า โดย ธงชัย ประดับชนานุรัตน์



วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การพัฒนาและการสื่อสาร

"..คนทุกคน ไม่ว่าชาวกรุงหรือชาวชนบท ไม่ว่ามีการศึกษามากหรือน้อยอย่างไร ย่อมมีจิตใจเป็นอิสระ มีความคิดเห็น มีความพอใจ มีรสนิยม เป็นของตนเอง ไม่ชอบการบังคับ นอกจากนั้นยังมีขนบธรรมเนียม มีแบบแผนในความประพฤติปฏิบัติเฉพาะเหล่าเฉพาะถิ่นอีกด้วย การที่ท่านจะนำสิ่งต่างๆไปมอบให้หรือไปแนะนำ สั่งสอนโดยรีบร้อนให้ได้ผลทันใจ บางทีจะรู้สึกว่าขลุกขลักติดขัดไม่น้อย อย่างเช่น อย่างเช่นจะนำหลักวิชาโภชนาการไปแนะนำคนในชนบทอาจยังไม่ยอมรับ ไม่บริโภคตามคำแนะนำของท่านทันทีทันใด ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อฟังหรือขัดขืน แต่อาจจะเป็นการขัดกับความเคยชินและความนิยมที่เขามีอยู่ก่อน ท่านไม่ควรยอมปล่อยให้ปัญหาอย่างนี้ เป็นสาเหตุให้เกิดความไม่พอใจ ขัดใจหรือท้อถอยขึ้น เพราะจะทำให้งานทุกอย่างหยุดชะงักและล้มเหลว ควรอย่างยิ่งที่จะต้องอดทนและพยายามทำหน้าที่ต่อไปด้วยปัญญา ด้วยความปราถนาดีและรอบคอบ สุขุม เมื่อได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ด้วยความหวังดีและบริสุทธิ์ใจโดยถูกต้องแล้ว ถึงหากจะได้ผลน้อยไป ล่าช้าไปบ้าง ก็ควรจะพอใจแล้ว คนทุกคน ตามปกติย่อมมีความจริงใจเชื่อใจในกันและกัน ถ้าท่านปฏิบัติงานปฏิบัติตนถูกต้องโดยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจต่อผู้อื่นแล้ว จะทำงานให้บรรลุความสำเร็จได้แน่นอน..."
                                                                                        
                                                                                 พระบรมราโชวาท
                                               ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรและอนุปริญญาบัตร                                                                                               
                                                 แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล วันเสาร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒o



อนาวิน

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การสื่อสารไม่ได้มีแค่คำพูดเท่านั้น!!!

หลายคนเข้าใจว่าการสื่อสารการถ่ายทอดด้วยคำพูด
ออกจากกล่องเสียง ออกมาเป็นเสียง และกระทบกับโสตประสาทของผู้ฟังเท่าั้นั้น

แ ต่ วั น นี้!!!

ชั้นได้รับรู้อย่างนึงว่าการที่คนเราจะถ่ายทอดความรู้สึก ความคิดถึง ความห่วงใย
สื่อสารกับคนที่คุณรักหรือทุกคนบนโลกใบนี้
ไม่จำเป็นต้องออกมาจากปากไม่จำเป็นที่ต้องออกมาจากคำพูด
แ่ค่เรามองตา แค่เรากอด หรือแค่เราจับมือ
สิ่วที่เรารู้สึกนั้นมันจะแสดงออกด้วยตัวของมันเอง
และผู้รับสารของเรานั้นเค้าก็เข้าใจได้อย่างอัตโนมัติ
หรือที่เราเรียกกันว่า
ภาษากาย

เราไม่ได้ใช้สมองในการฟัง แต่เราใช้หัวใจในการรับฟัง


แทนคำนั้น แอนธิติมา
อยากจะมีคำพูดสักคำ ที่แทนความจริงจากใจที่มี
อยากจะสื่อความหมายดีๆ ที่พอจะทำให้เธอได้เข้าใจ
คำบางคำที่ดีซักคำหนึ่ง คำบางคำที่จะซึ้งกินใจ
ที่จะพอจะใช้แทนใจจากฉัน

แต่จะมีคำพูดคำใด
ที่แทนความจริงจากใจให้กัน
ต่อให้คำเป็นร้อยเป็นพัน
ก็คงบรรยายไม่พอได้เหมือนใจ

ความเป็นจริงที่เห็นที่เป็นอยู่
คงจะดีกว่าคำพูดใดๆ
และไม่มีสิ่งไหน มากมายกว่านั้น

แทนสัญญา แทนสายใยในหัวใจที่นิรันดร์
ก็คือความจริงใจที่คงมั่น ที่ตัวฉันนั้นมีให้เธอ
มีหัวใจและสายตา แทนสัญญาว่ารักเธอ
และจะมีเพียงพอมาให้เธอผู้เดียว

ความเป็นจริงที่เห็นที่เป็นอยู่
คงจะดีกว่าคำพูดใดๆ
และไม่มีสิ่งไหน มากมายกว่านั้น

แทนสัญญา แทนสายใยในหัวใจที่นิรันดร์
ก็คือความจริงใจที่คงมั่น ที่ตัวฉันนั้นมีให้เธอ
มีหัวใจและสายตา แทนสัญญาว่ารักเธอ
และจะมีเพียงพอมาให้เธอผู้เดียว

เธอผู้เดียว ผู้เดียว

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Freedom from the Known

. . . คุณจะเฝ้าดูได้ก็ต่อเมื่อจิตเงียบมาก เช่นเดียวกับที่คุณสามารถฟังใครซักคนที่กำลังพูดได้ก็ต่อเมื่อจิตของคุณไม่คุยจ้อหรือพูดกับตัวเองถึงปัญหาและความกังวลของตน และเช่นเดียวกัน คุณเฝ้าดูความกลัวของคุณโดยไม่พยายามแก้ไขมันได้หรือไม่ หรือไม่นำเอาสิ่งที่ตรงข้ามกับมันคือความกล้ามากลบเกลื่อน เฝ้าดูมันจริงๆและไม่พยายามหนีมันไป เมื่อคุณพูดว่า "ผมต้องควบคุมมัน ผมต้องกำจัดมันออกไป ผมต้องเข้าใจมัน" คุณกำลังหลบหลีกไปจากมันเสียแล้ว . . .

บทความตอนหนึ่งจากหนังสือ Freedom of the known อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้ ของกฤษณมูรติ เป็นหนังสือที่น่าสนใจอีกเล่มหนึ่ง หากต้องศึกษาแนวคิดที่สวนกระแสในมุมมองที่ต่างออกไปจากขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งกระแสสังคมที่เรายึดถือปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน

หลังจากที่ได้เรียนวิชานี้ไปในคาบแรก ทำให้นึกถึงอะไรหลายๆอย่าง รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ ที่เคยอ่านเมื่อประมาณสองปีมาแล้ว แนวคิดของผู้เขียนน่าสนใจมาก เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้โดยส่วนใหญ่จะเป็นการพูดถึงการทำความรู้จักตัวเอง ในความแตกต่างของแต่ละบุคคลที่มีความเป็นปัจเจก ก็ยังมีพื้นฐานความเป็นมนุษย์เหมือนกัน การเข้าใจตัวเราเองอย่างแท้จริง ย่อมทำให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น จึงขอเริ่มต้นบทความแรกเป็นการแนะนำหนังสือเล่มนี้ และแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการเรียนรู้ชีวิตของตนเอง


ในการทำความรู้จักตัวเองและชีวิต ความคิดต่างๆที่เรานึกขึ้นได้ ณ เวลานี้ ส่วนมากก็เป็นผลมาจากเรื่องราวในอดีตที่ทำให้เราตีความหมายไปตามประสบการณ์เฉพาะตัว เราเรียนรู้จากสิ่งที่ผู้คนเล่ามา เรียนรู้จากการสั่งสอน ถ่ายทอด ไม่มีการเรียนรู้อะไรที่ใหม่จริงๆ เหมือนกับการใช้ชีวิต . . ที่เรามักใช้เวลาปัจจุบันเสียเปล่าไปกับการคิดถึงอดีตและกังวลถึงอนาคต เมื่อเราสัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราก็จะใช้ประสบการณ์เดิมที่มีในการพยายามจะอธิบาย เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยเจอมาก่อน เพื่อประเมินค่าหรือวิพากย์วิจารณ์ โดยแทบจะไม่ได้ชื่นชมกับสิ่งๆนั้นในแบบที่มันเป็นจริงๆ เราพยายามแบ่งแยกว่าอะไรดี อะไรเลว อะไรมีค่า อะไรไม่มีค่า อะไรควร ไม่ควร ทุกอย่างถูกแบ่งอย่างแปลกแยก ความคิดของเราจึงมักกลายเป็นสองขั้วไปโดยปริยาย ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วเส้นแบ่งเหล่านั้นอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ มีอยู่จริงหรือเปล่า? เราอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆรอบตัวเรา รวมทั้งผู้คนมากมายโดยที่เรามองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริงและคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งก็ไม่แปลกที่เราจะมีความคิดแบบนั้น เมื่อย้อนดูรูปแบบของสังคม แนวคิดของผู้คนส่วนใหญ่ คติและความเชื่อต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เรามีกรอบที่ครอบเราไว้ เราแทบจะรู้ว่ากระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบของชีวิตคืออะไร เรียนโรงเรียนดีๆเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เพื่อให้ได้งานที่ดี เพื่อให้มีฐานะที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม ถ้าไม่คิดอะไรมากก็เดินไปตามทางนั้น ทางที่มีคนขีดไว้ให้เดิน ฝืนใจเดินๆไปมีความสุขบ้าง ไม่มีความสุขบ้าง . . แล้ววันนึงก็เกิดคำถามขึ้นมาว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่? และตกลงแล้วเราเกิดมาเพื่ออะไร? สุดท้ายแล้วคำตอบนั้นเหมือนจะมาจากภายในใจของเราเอง การเรียนรู้จากภายในตัวเราที่บางทีก็อธิบายไม่ได้ ไม่มีเหตุผลแต่รู้สึกได้ สัมผัสได้ บางทีทางนั้นเหมือนจะชัดเจนกว่าภาพที่มีคนอื่นอธิบายไว้ให้อย่างละเอียดเสียอีก สิ่งที่สังคมยอมรับ เราอาจไม่ยอมรับ สิ่งที่เรายอมรับบางทีอาจเป็นเรื่องที่โดนต่อต้านจากสังคม ในกระแสสังคมที่ไหลไปไม่หนุดนิ่ง อาจง่ายกว่าถ้าเราปล่อยตัวไหลไปตามกระแส แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์อะไร และชีวิตจะมีความสุขยังไง ถ้าเราเกิดมาเพื่อแค่ว่าพยายามจะเป็นเหมือนคนอื่น บางทีแม้ว่าการทวนกระแส การหยุดอยู่นิ่งๆต้านกระแสเหล่านั้นอาจทำให้เหนื่อยทั้งกายและใจ แต่ก็เต็มไปด้วยพลังในการใช้ชีวิต . . .

ทำอย่างไร ถึงจะเป็นอิสระจากสิ่งต่างๆ แนวคิดต่างๆ คำวิจารณ์ของผู้คน และเรียนรู้ด้วยจิตที่ว่างจริงๆ
ทำอย่างไร เราถึงจะพบจุดยืนของตัวเอง ทางเดินของตัวเราเองและวิถีของเราเอง

. . . ไม่รู้เหมือนกันนะ บางทีคงต้องเริ่มตัด ปล่อยวาง และลดอคติต่างๆนานา ของตัวเองลงบ้าง โดยเฉพาะการตัดสินในเรื่องต่างๆหรือคนอื่นๆ มองในแบบที่มันเป็นโดยไม่ต้องปรุงแต่งหรือวิจารณ์ อาจทำให้เราเรียนรู้ได้มากกว่าเดิม เมื่ออคติทั้งบวกและลบลดลง ประสาทสัมผัสน่าจะเปิดกว้างมากขึ้นนะ และใช้ชีวิตเป็นปัจจุบันมากขึ้น ลดความยึดติดจากสิ่งที่คุ้นเคย เปิดใจให้กว้าง ทำสมองกลวงๆบ้าง น่าจะดี

เขียนตรงประเด็นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะคะ อ่านเข้าใจกันหรือเปล่า ยังไงก็ลองแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะการเรียนรู้ตนเองกันดีกว่า


คำถามสุดท้ายก็คือ . . เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า?

ธีรินทรา

วิวัฒนาการของการสื่อสารในชั่วชีวิตหนึ่งของเรา

ในชั่วชีวิตของคนหนึ่งคน การสื่อสารได้เริ่มต้นตั้งแต่เสียงร้องเสียงแรกของเราเมื่อแรกเกิด เมื่อเราเป็นเด็กทารกที่ยังพูดไม่ได้แต่กลับสามารถสื่อสารให้แม่เราทราบว่า หิว หรือบอกว่าไม่สบายตัวได้ด้วยเสียงร้อง โตขึ้นมาหน่อยถึงแม้จะยังคุยไม่ได้ แต่เราที่ยังอยู่ในวัยทารกก็เริ่มยิ้ม เพื่อเป็นการบอกให้แม่รู้ว่ามีความสุข และเมื่อเติบโตขึ้นมาเริ่มมีการพูดคุยได้ก็เริ่มมีการสื่อสารกับแม่ โดยการพูดคุย เมื่อมองย้อนถึงสิ่งเหล่านี้ ทำให้คิดได้ว่า การสื่อสารไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนก็เพื่อต้องการให้คนรอบข้างได้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองอยากจะบอก การสื่อสารไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบไหนล้วนสำคัญ แต่การพูดคุยเป็นการสื่อสารที่สำคัญที่สุด เมื่อเราโตมาเป็นวัยรุ่นและเราแอบรักใครสักคน เราก็จะพยายามสื่อสารบอกว่ารักเขาโดยการส่งของขวัญ หรือแอบเซอรไพร์เขาในตู้ล็อคเกอร์ ในวันวาเลนไทน์และเมื่อถึงวัยที่เราต้องแต่งงานมีชีวิตคู่เราก็อยากมีชีวิตคู่ที่มีควมสุข มีหนังสือหลายเล่มให้เหตุผลของการมีครอบครัวที่มีความสุขว่า สองคนเมื่อแต่งงานกันแล้วสิ่งที่ต้องมีในหลายๆปัจจัย คือ การสื่อสาร เมื่อเราใช้ชีวิตคู่อันยาวนานจนกลายเป็นตาและยายที่อยู่กันจนแก่เฒ่า สิ่งที่เหลือที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจ คือการมีใครสักคนไว้คอยพูดคุยและให้กำลังใจกันจนกว่าจะตายจากกัน และคุณล่ะเคยอยากพูดอะไรกับใครแล้วไม่กล้าสื่อสารหรือพูดออกมาไหม อย่ารีรอค่ะ รีบบอกและใช้การสื่อสารที่จะทำให้เขาเข้าใจ และอย่าอายที่จะบอกรักเขาคนนั้นทุกวัน และผู้เขียนก็รักทุกคนค่ะ

ข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1. ขอให้นักศึกษาทุกท่าน เขียนบทความอย่างน้อย หนึ่งบทความ ต่อสัปดาห์ ที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับรายวิชา
2. แสดงความคิดเห็นต่อบทความของเพื่อน อย่างน้อย 2 ความคิดเห็นต่อสัปดาห์
3. เรียนรู้ แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นแบบกัลยาณมิตร
4. ลงชื่อท้ายบทความของตนเองด้วย ทุกครั้ง

ขอให้เปิดใจใสใส ในการเรียนรู้นะคะ

ยินดีต้อนรับสู่การเรียนรู้อีกครั้งคะ

อาจารย์จงดี

คำอธิบายรายวิชา

หลักการและทักษะการเป็นเสริมสร้างเครือข่าย กระบวนการทำงานของเครือข่าย เน้นกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม สร้างเสริมการเรียนรู้เพื่อเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยน การคิดวิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมผ่านประสบการณ์ ฝึกฝนการรับฟังอย่างลึกซึ้ง ฝึกตั้งคำถามอย่างลงลึก ฝึกจับประเด็นและเชื่อมโยงประเด็น รวมถึงการฝึกออกแบบกระบวนการหรือกิจกรรมผ่านประสบการณ์ เพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ฝึกฝนภาวะความมั่นคงภายในที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อที่จะสามารถรองรับกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่หลากหลาย อารมณ์ความรู้สึกของผู้เกี่ยวข้อง และการคิดวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ในการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็ง ฝึกฝนการสร้างความตระหนักรู้ในตนเองเพื่อการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อมในเครือข่ายการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม

ยินดีต้อนรับสู่การเรียนรู้

สวัสดีคะ นักศึกษา EP 4 ทุกท่าน

ยินดีต้อนรับสู่การเรียนรู้แบบใหม่นะคะ ขอให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ รายวิชา เครือข่ายและการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ขอให้ทุกคนน้อมนำรายวิชา เพื่อเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงนะคะ

อาจารย์จงดี โตอิ้ม